พระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระประสูติกาล
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ สอวน. และเป็นประธานมูลนิธิ สอวน. พระองค์แรก ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 เวลา 23.07 น. ณ สถานพยาบาล เลขที่ 48 Lexham gardens กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในสูติบัตร เมื่อแรกเกิดคือ May (เมย์) ตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
การศึกษา
ปลายปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จพร้อมด้วยครอบครัวมหิดลไปยังนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาด้านจิตวิทยา การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์ ด้านสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ก (Park School) หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว พ.ศ. 2471 ทรงนำครอบครัวกลับประเทศไทย และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี
ภายหลังสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475
สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน รัฐโว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้าศึกษาที่ชองโซเลยอีกครั้งเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) จนจบระดับประถมศึกษา หลังจากนั้นสมเด็จพระราชชนนีได้ย้ายไปประทับที่เมืองปุยยีซึ่งอยู่ติดกับโลซาน โดยพระราชทานนามสถานที่ประทับว่า “วิลล่าวัฒนา” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ณ ที่นั้น พระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย ต่อมาทรงย้ายมาเรียนที่ International School of Geneva ณ กรุงเจนีวา ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาเคมีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาเคมีซึ่งพระองค์ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A พระองค์ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย
ด้านครอบครัว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ เพื่อสมรสกับพันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เมื่อพุทธศักราช 2487 พระองค์มีพระธิดาเพียงคนเดียว คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สกุลเดิม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ; สมรสกับสินธู ศรสงคราม มีบุตรชาย คือ พันตรีจิทัศ ศรสงคราม) เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงว่า พระพี่นางกัลยาณิวัฒนา เป็นพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทและทรงมีอุปการคุณแด่พระองค์ ดังนั้น จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระพี่นางกัลยาณิวัฒนา กลับทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ ต่อมา เมื่อปี พุทธศักราช 2512 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเสกสมรสอีกครั้งกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยและหม่อมระวี ไกยานนท์)
สกุลยศและพระอิสริยยศ
- หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล (6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 – 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2470)
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา (8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2470 – 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477)
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 – 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2487)
- ท่านผู้หญิงกัลยาณิวัฒนา รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2487 – 25 มีนาคม พุทธศักราช 2493)
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (25 มีนาคม พุทธศักราช 2493 – 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538)
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538 – 2 มกราคม พุทธศักราช 2551)
พระอัจฉริยภาพด้านพระนิพนธ์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ได้ทรงริเริ่มออกวารสาร “รื่นรมย์” โดยได้ชักชวนให้พระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่องตั้งแต่พระชนมายุประมาณ 9 ชันษา ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการและทรงเขียนบทความลงวารสารด้วย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษและเรียบเรียงเรื่อง “นิทานสำหรับเด็ก” ซึ่งต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานวันประสูติของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า วันที่ 10 กันยายน พุทธศักราช 2475
พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เวลาเป็นของมีค่า แม่เล่าให้ฟัง เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ และพระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยวเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จประพาส ได้แก่ ยูนนาน ที่ไซบีเรียหนาวไหม จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊ เป็นต้น
พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพลังแห่งการสร้างสรรค์ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงสนพระทัยและทรงเล่นกีฬาหลายประเภท อาทิ เล่นสกี กรรเชียงเรือ ตกปลา ขี่จักรยาน เดินภูเขา และทรงม้าผาดโผน ส่วนแบดมินตันนั้น ได้ทรงเล่นตามอย่างสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากทรงร่วมเล่นแล้ว ยังทรงสนับสนุนนักแบดมินตันหลายคนให้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้งยังทรงสนพระทัยเรื่องการขับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไก และรถสามล้อ มีพระปรีชาสามารถในการขับเครื่องบินปีก 2 ชั้น และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย โดยทรงเรียนการบินเป็นนักบินหญิงอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้การใช้กล้องบันทึกภาพ ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่ทรงบันทึกภาพโดยมีจุดประสงค์ทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ ไม่ว่าจะเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงบันทึกภาพที่สนพระทัยด้วยพระองค์เองเสมอ ภาพที่ทรงบันทึกไว้จะเป็นประโยชน์เมื่อทรงจัดทำพระนิพนธ์ในภายหลัง แม้แต่การบันทึกภาพด้วยวีดิทัศน์ของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในการทำข่าวเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ก็จะพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้บันทึกภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความหมายสอดคล้องกับคำบรรยาย
แหล่งที่มา เนื้อหา
พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ สอวน.
ฐานข้อมูลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
แหล่งที่มา ภาพ
https://vet.kku.ac.th/
https://www.nuac.nu.ac.th/
http://culture.pn.psu.ac.th/galyani/
https://www.matichon.co.th/
https://toi18.science.cmu.ac.th/